ในสมัยก่อนไม้ยางพารานับเป็นตัวเลือกท้ายๆ ในการใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากต้นยางพาราเป็นต้นไม้ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และยังถูกปลวกหรือเชื้อราเข้ากัดกินเนื้อไม้ได้ง่าย ทำให้ไม่มีใครนำไม้ยางพารามาแปรรูป แต่ในปัจจุบัน เมื่อทรัพยากรด้านป่าไม้เริ่มขาดแคลนและไม้เริ่มมีราคาแพง ผู้ประกอบการด้านเฟอร์นิเจอร์จึงหาวิธีที่จะนำไม้ยางพารามาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยการพัฒนากระบวนการปรับปรุงคุณภาพของไม้ยางพารา ด้วยการอัดน้ำยากันปลวกและเชื้อรา ก่อนนำไปอบแห้งเพื่อให้เนื้อไม้คงทนแข็งแรง และมีคุณภาพในการแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์
ไม้ยางพารามีการปลูกกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะทางภาคใต้ของประเทศไทย ทำให้เป็นไม้ที่สามารถหาซื้อได้ง่ายและมีราคาไม่แพง นอกจากนี้ไม้ยางพารายังมีเนื้อไม้สีอ่อน ช่วยให้ง่ายต่อการนำไปทำสี เวลาแปรรูปออกมาเป็นเฟอร์นิเจอร์จะยังคงให้สัมผัสความสวยงามของลายไม้ ทำให้เฟอร์นิเจอร์จากไม้ยางพาราจึงได้รับความนิยมอย่างมาก และมีการทำออกมาในรูปแบบที่หลากหลาย
เนื่องจากไม้ยางพาราไม่สามารถแปรรูปเป็นแผ่นไม้ขนาดยาวได้ เพราะบางส่วนของต้นมีรอยกรีดจากการรีดน้ำยาง ทางโรงงานผู้ผลิตจึงจำเป็นต้องใช้วิธีการต่อไม้แบบ FJL (Finger Joint Laminate) ซึ่งเป็นเทคนิคที่นำไม้ยางพาราขนาดสั้นมาต่อเพื่อให้ได้ไม้ที่มีความยาวในการทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ โดยวิธีนี้ยังเป็นการเพิ่มความแข็งแรง และป้องกันการเสียรูปทรงของเนื้อไม้
เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ยางพารามีราคาถูกกว่าเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้แท้อย่าง ไม้สัก หรือไม้เต็ง แต่ให้คุณภาพและความสวยงามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน อีกทั้งยังง่ายต่อการดูแลรักษาและทนต่อสภาพอากาศ ทำให้ทุกวันนี้เฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารายังคงเป็นที่ชื่นชอบของนักตกแต่งบ้านเป็นจำนวนมาก